วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

หลวงพ่อเงิน วัดห้วยเขน

หลวงพ่อเงิน วัดห้วยเขน

ทุกวันนี้ได้รับการยอมรับเป็นสากลแล้วว่า ทันหลวงพ่อเงินปลุกเสก และมีการใส่ลงไว้ในงานประกวดพระท้องถิ่นมานานแล้ว เซียนสมัยก่อนไม่ยอมรับแต่ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารเพิ่มแพร่หลาย ความจริงจึงเริ่มปรากฎ

เมื่อมีคนรู้มากขึ้น เซียนน้อยใหญ่ต่างกว้านซื้อเก็บกันแบบเงียบๆ ราคาเริ่มขยับจากหลักพันขึ้นสู้หลักหมื่นต้นๆแล้วในปัจจุบัน

หลวงพ่อเงิน วัดบางคลานรุ่นพิมพ์นิยม พิมพ์ขี้ตา ราคาไปไกลสุดเอื้อมแล้ว วัดห้วยเขนจึงเป็นทางเลือกที่ดี ประวัติการสร้างชัดเจน เพียงแต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูลกันมากนัก

ผมจึงถือโอกาสที่ได้ครอบครอง หลวงพ่อเงิน วัดห้วยเขนองค์นี้เป็นองค์แรกจึงขอนำข้อมูลความเป็นมาให้เพื่อนๆได้พิจารณากันครับ



บทความข้างล่างนี้คัดลอกมาจากเวปเพื่อนบ้านครับผม ขอบคุณเจ้าของบทความมา ณ ที่นี้ด้วย


วัตถุมงคลของวัดห้วยเขน จ.พิจิตร ตอนนี้ถือว่ากำลังมาแรงมาก นับวันก็จะหายากขึ้นทุกที และราคาก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากประวัติการสร้างเริ่มมีความชัดเจน อีกทั้งผู้ที่นำไปใช้ต่างมีประสบการณ์ต่าง ๆ นานา

แต่ความที่ผมเป็นคนช่างสงสัย ไม่ค่อยจะเชื่ออะไรใครง่าย ๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสผมจึงขับรถไปที่วัดห้วยเขนด้วยตัวคนเดียวเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ม.ค. 2551 พอไปถึงฝนก็ตกพรำ ๆ

ผมได้มีโอกาสพบพระคุณเจ้ารูปหนึ่งที่มีอายุค่อนข้างมาก ท่านได้เมตตาพาผมไปที่อุโบสถที่หลวงพ่อเงินมาสร้างเอาไว้ พร้อมทั้งเปิดประตูให้เข้าไปชมข้างใน นอกจากนี้ผมยังได้มีโอกาสพบกับท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ผมจึงได้สอบถามท่านถึงประวัติการสร้างวัดและวัตถุมงคลของวัดห้วยเขน ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า พระครูล้อม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้ขี่ช้างไปหาหลวงพ่อเงิน ที่วัดบางคลาน เพื่อขอให้ท่านมาช่วยสร้างวัดโดยท่านไม่ลืมที่จะนำนกกระทาไปฝากหลวงพ่อเงินด้วย เพราะท่านทราบว่าหลวงพ่อเงินชอบนกกระทา พอไปถึง หลวงพ่อเงินเห็นหลวงพ่อล้อมนำนกกระทามาฝาก ท่านก็หัวเราะชอบใจ พร้อมกับชมหลวงพ่อล้อมว่าช่างรู้ใจท่าน

หลวงพ่อเงินจึงรับปากว่าจะไปช่วยสร้างถาวรวัตถุให้วัดห้วยเขน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2456 หลวงพ่อเงินจึงได้ขี่ช้างมายังวัดห้วยเขน ซึ่งหากดูในแผนที่ประเทศไทยแล้วตีเป็นเส้นตรงจากวัดบางคลานมายังวัดห้วยเขนจะเป็นระยะทางประมาณ 20 ก.ม. ท่านเจ้าอาวาสได้กรุณาชี้ให้ผมดูจุดที่หลวงพ่อเงินเมื่อขี่ช้างมาถึงวัดแล้วนำไปผูกที่ใต้ต้นโพธิ์ แต่ปัจจุบันต้นโพธิ์ต้นนั้นได้ล้มตายไปแล้ว ทางวัดได้ปลูกขึ้นใหม่ในจุดใกล้ ๆ กัน

เสียดายที่ผมไม่ได้นำกล้องติดตัวไปด้วย ท่านยังได้เล่าถึงวัตถุมงคลที่สร้างในยุคนั้นให้ฟังว่า มีทั้งรูปหล่อ จอบ เหรียญหล่อ ภาพถ่ายหลวงพ่อเงินขาวดำ พระที่สร้างด้วยเนื้อดินพิมพ์ต่าง ๆ เช่น พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ยืน พิมพ์พระสมเด็จ เป็นต้น โดยวัตถุมงคลทุกชิ้น หลวงพ่อเงินได้กำหนดราคาเท่า ๆ กันคือ 1 บาท โดยเฉพาะพระที่สร้างด้วยเนื้อดินมีความพิเศษที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ กล่าวคือ พระชุดนี้หลวงพ่อเงินจะผสมผงและคนด้วยมือของท่านเองจนได้ที่แล้วจึงให้พระและเณรไปช่วยกันกดพิมพ์

หลวงพ่อเงินเคยแจกพระเนื้อดินให้เด็กในวัด ต่อมาเด็กคนนี้ถูกสุนัขกัดแต่ไม่เข้า ชาวบ้านจึงมาเล่าให้หลวงพ่อเงินฟัง หลวงพ่อฟังแล้วก็หัวเราะชอบใจ พระเนื้อดินชุดนี้ตอนหลังได้ถูกขโมยลักลอบขุดหลายครั้ง ทางวัดจึงเปิดใต้ฐานชุกชีเพื่อนำพระออกให้ประชาชนบูชา เคยมีคนอยากได้พระชุดนี้แต่เมื่อทราบว่าหมดไปแล้ว ก็เข้าไปในโบสถ์อธิษฐานแล้วเอามือไปรองใต้ฐานชุกชี ปรากฏว่ามีพระหล่นใส่มือมา 1 องค์ ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่าเมื่อดูจากหลักฐานการขอเขตวิสุงคามสีมาปรากฏว่ามีการขอและอนุญาตประมาณปี 2460 - 2461 แสดงว่าหลวงพ่อเงินมาที่วัดห้วยเขน ปี 2456 และอยู่จนกระทั่งสร้างวัดเสร็จ รวมระยะเวลาประมาณ 5 ปีเศษ


ต้องยอมรับว่าในบรรดารูปหล่อแล้ว สุดยอดที่ถือเป็นจักรพรรดิ์ต้องเป็นของหลวงพ่อเงิน ดังนั้นหากจะเทียบว่าวัตถุมงคลของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน คือวัดระฆังแห่งเมืองพิจิตร พระชุดของวัดห้วยเขนก็คือวัดบางขุนพรหมแห่งเมืองพิจิตรดี ๆ นี่เอง เพราะประวัติการสร้างคล้ายกับที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไปช่วยสร้างวัดบางขุนพรหม อย่างไรอย่างนั้น
ขอบคุณข้อมูลดีจาก เวป http://palungjit.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น